เส้นทางสู่ศักดิ์ศรี


ในช่วงเวลาระหว่างที่รับราชการอยู่นั้นไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายเพียงประการเดียวเท่านั้น เพราะความคิดยังคงเป็นสิทธิของเราโดยสมบูรณ์เป็นโลกส่วนตัวที่ไม่มีใครมาบงการได้ ดังนั้นความคิดที่ขัดแย้งกับบางคำสั่งที่ได้รับมาจึงเกิดขึ้นในบางโอกาส ซึ่งก็เป็นเพียงความคิดไม่ใช่การขัดแย้งด้วยการกระทำ ความคิดเราจึงมีเสรีภาพเต็มที่ทำให้มีโอกาสได้ใช้วิจารณญานของตนเองในการหาเหตุผลให้กับเรื่องที่ไร้เหตุผล หาคำตอบให้กับความอยุติธรรมหลากหลายที่เกิดขึ้นรอบตัว หาคำตอบให้กับความประพฤติผิดหลากหลายทั้งทางอาญา ทางวินัยและทางสังคม ที่ผู้กระทำผิดไม่ต้องได้รับโทษ หลายเรื่องที่มองเห็นก็ไม่สามารถหาคำตอบให้กับตัวเองได้ เพราะบางเรื่องนั้นจะมีผู้ตอบได้เพียงคนเดียวคือตัวของผู้ที่กระทำในเรื่องนั้นๆ และก็จะเป็นคำตอบที่ตรงกับความเป็นจริงได้เฉพาะในใจไม่ใช่หลุดรอดมาจากปากของบุคคลนั้้นอย่างเด็ดขาด

คุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์ ถูกลบออกจากหลักสูตรการศึกษาของประชาชนรุ่นหลังอย่างหมดเยื่อใยตามยุคสมัยที่มีแต่การแข่งขันในทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องการศึกษาที่ต้องมีการสอบแข่งขันกันในทุกระดับ สังคมรอบด้านมีแต่การแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการกีฬา การค้าขาย การดนตรี ไม่เว้นแม้แต่สถานะของการยืนหยัดอยู่ในสังคม ทุกการแข่งขันนั้นเกิดขึ้นมาจากการให้ความสำคัญกับเรื่องแข่งขันกับวิวัฒนาการทางสังคมของโลกโดยไม่เคยย้อนกลับไปมองถึงอดีตที่ผ่านมา แล้ววิเคราะห์หาเหตุผลของความแตกต่างของเรื่องราวที่มีอยู่ในปัจจุบัน ว่ามีอะไรขึ้นกับชีวิตของเราบ้าง ? การปลูกฝังจิตสำนึกในสิ่งดีงามที่เคยเริ่มต้นจากระดับครอบครัวถูกเพิกเฉยเลือนหายไปจากวัฒนธรรมไทยอันเนื่องมาจากการประกอบอาชีพแบบแข่งขันกันอย่างทุ่มเทของบุพการีทั้งคู่ โลกจึงมีแต่เสียงร่ำร้องระงมเมื่อมีผู้ก่อเรื่องวุ่นวายว่า ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน แน่นอนว่าไม่เคยมีใครกล้าโต้แย้งความจริงในข้อนี้

มีเอกสารมาให้อ่านเล่น เพราะไปเจอเรื่องเก่าๆ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ยุทธศาสตร์เพื่อการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย

".........การปรับบทบาทของภาครัฐให้เอื้อต่อภาคเอกชน การปรับตัวของประเทศไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกจะไม่สำ เร็จได้ด้วยดี ถ้าปราศจากการมีกลไกที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องซึ่งกันและกัน รวมทั้ง สนับสนุนปัจจัยพื้นฐานที่เหมาะสมและเพียงพอ โดยเฉพาะกลไกของภาครัฐ ที่จะต้องมีการปรับรูปแบบและบทบาทไปพร้อมกัน ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ

ระดับนโยบาย คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็น
ประธาน องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาครัฐและเอกชน รวม 10 คน และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการชุดนี้ ทำหน้าที่ในการกำหนดกรอบนโยบายและแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งในภาพรวมและรายสาขา กำกับดูแล และผลักดันการดำเนินงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเป็นไปตามกรอบทิศทางและยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้ง อนุมัติแผนงานและโครงการภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ระดับปฏิบัติ กระทรวงที่เกี่ยวข้องจะปฏิรูปบทบาทของตนเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การแข่งขันที่ได้กำหนดขึ้น และเพื่อตอบสนองต่อภาคธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ........."

อ่านมาแล้วทั้ง 62 หน้าดูจะเป็นเอกสารทางวิชาการมากไปหน่อยอ่านไปนานๆ พาลเคลิ้มเอา แต่โดยสรุปแล้วก็คือ เชิญชวนชี้นำให้ประชาชนมุ่งไปหาเศรษฐกิจในระดับโลกทั้งๆ ที่่รัฐบาลเองก็น่าจะรู้ดีกว่าใครว่าจะมีประชาชนสักกี่คนที่จะพากันก้าวเดินขึ้นไปในระดับน้น เพราะทุกวันนี้กว่าจะหาเงินมาเป็นค่าข้าวแต่ละมื้อก็ยังยากเย็นเข็ญใจ หากสภาพัฒน์ฯ จะคิดโครงการหรือยุทธศาสตร์อะไรขึ้นมาก็น่าจะลืมตาตื่นจากความฝันเสียก่อนแล้วค่อยมาทำงานของตนอย่างจริงจัง หรืออย่างน้อยก็ควรจะเข็นสังคมให้ดีขึ้นเสียก่อนแล้วค่อยไปมองเรื่องเศรษฐกิจทีหลัง

เหมือนกับที่คนโบราณเค้าว่าไว้ "เห็นช้างขี้ แล้วมาบอกให้ขี้กองโตเหมือนช้าง" (เอ...เค้าว่าไว้ยังงี้รึเปล่าไม่แน่ใจ ชักจะลืมๆ ไปซะแล้ว)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักพรรคประชาธิปัตย์

เวลาที่ผ่านไป

รัฐธรรมนูญฉบับแรก