งบประมาณแผ่นดินปี 2555


ข่าวจาก นสพ.คมชัดลึก เมื่อ 8 พ.ย.54 ซึ่งน่าจะให้ความสนใจสักนิดเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 แน่อนล่ะว่าเป็นการใช้จ่ายเงินภาษีของเราท่านท้งหลายโดยรัฐบาล ส่วนที่ว่าจะเหมาะสมหรือไม่? ขึ้นอยู่กับวิจารณญานของแต่ละท่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตามที่ สภาผู้แทนราษฎร ได้บรรจุวาระพิจารณาร่างพรบ.รายจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2555 ซึ่งมีวงเงิน 2,380,000 ล้านบาท และจะพิจารณาในวันที่ 9-10 พ.ย.นี้ โดยงบประมาณในปีนี้ถือว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.7 จากงบประมาณ ปี 2554 ซึ่งจากการตรวจสอบงบประมาณรายงายจ่าย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการบริหารและจัดการน้ำท่วม พบว่า มีอยู่ในหลายส่วนงาน อาทิ ภายใต้ ยุทธศาสตร์สร้างสร้างรากฐานการพัฒนาที่สมดุลสู่สังคมที่มีวงเงินที่ใช้ 475,062.6 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของแผนงานส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ วงเงิน 45,268.6 ล้านบาท และงบประมาณ เพื่อนำไปใช้เยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย ในด้านต่างๆ อย่างบูรณาการ จำนวน 120,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทีมีกำหนดวงเงินไว้ 45,148.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.9 ของงบประมาณทั้งหมด ยังมี แผนงานจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อจัดการและฟื้นฟูและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัย ใช้วงเงิน 7,924.2 ล้านบาท แผนงานป้องกัน เตือนภัย แก้ไข และฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติ วงเงิน 13,937 ล้านบาท และ แผนงานแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ วงเงิน 101.7 ล้านบาท
สำหรับ ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการวิจัย และนวัตกรรม ได้กำหนดวงเงินไว้ 18,037.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของงบประมาณทั้งหมด มีแผนงานที่เกี่ยวกับน้ำท่วมคือ แผนงานส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติ วงเงิน 7,370 ล้านบาท

งบเยียวยา 1.2 แสนล้าน รายละเอียดยังไม่ชัด
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ งบประมาณจำนวน 120,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลกำหนดว่า จะใช้ในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ ได้ตั้งไว้ในส่วนของงบกลาง แต่ระบุถึงรายละเอียดการใช้ หรือโครงการที่จะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปดำเนินการ ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นการระบุแบบกว้าง ๆ เท่านั้นว่า จะใช้เยียวยา ป้องกันและฟื้นฟู อาทิกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า มีการกำหนดงบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมโครงการเนื่องจากอุทกภัย แต่กลับไมได้มีการแจกแจงรายละเอียด

ปภ. ขอ 4,333 ล้านบาท
ขณะที่ส่วนของกระทรวงมหาดไทย ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ของบ ไว้ 4,333,004,600 บาท ระบุรายเอียดไว้ว่า จะนำไปใช้ในแผนงานป้องกัน เตือนภัย แก้ไข และฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติ แบ่งเป็น มาตรการป้องกัน และเตือนภัยจากสาธารณภัย งบจำนวน 2,174 ล้านบาท ส่วนใหญ่ เป็นงบประมาณที่จัดหาอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ อาทิ คอมพิวเตอร์ , โปรแกรมประยุกต์บริหารจัดการข้อมูลด้านสาธารณภัยภาวะวิกฤต, ค่าก่อสร้างที่ดิน

นอกจากนั้น มีงบในส่วนของโครงการศูนย์บัญชาการสาธารณภัยแห่งชาติ จำนวน 5 ล้านบาท, โครงการป้องกันและลดผลกระทบจากน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และโคลนถล่ม จำนวน 14 ล้านบาท

สำหรับ มาตรการบรรเทา และฟื้นฟู บูรณะโครงสร้างพื้นฐานหลังภัยพิบัติผ่านพ้น มีวงเงินจำนวน 2,158 ล้านบาท เพื่อบูรณาการการเตรียมความพร้อมและบริหารจัดการภัยสาธารณภัยอย่างครบวงจร ในส่วนของงบลงทุน มีจำนวน 1,643 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าครุภัณฑ์ยานพาหนะและขนส่ง, รถผลิตน้ำดื่ม 5 คัน เป็นเงิน 26 ล้านบาท, รถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล 3 คัน เป็นเงิน 144 ล้านบาท, รถปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย 3 คัน เป็นเงิน 119 ล้านบาท, รถบรรทุกข์พร้อมเรือกู้ภัย ขนาดไม่น้อยกว่า 7 ที่นั่ง จำนวน8 ลำ เป็นเงิน 92 ล้านบาท เป็นต้น

ส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมือง มีแผนงานป้องกัน เตือนภัย แก้ไขและฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติ จำนวน 8,135 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณที่ใช้ในระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนที่จัดทำ จำนวน 2,803 ล้านบาทส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีผลผูกพันงบประมาณข้ามปี ตั้งแต่ปี 2552-2557 , งบประมาณที่ใช้ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำและริ่มทะเลทั่วประเทศ เป็นเงิน 1,442 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีผลผูกพันงบประมาณข้ามปี

ทั้งนี้ ได้มีโครงการที่เพิ่งตั้งเรื่องเพื่อของบประมาณ ในปีงบประมาณ 2555 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ,ภาคกลาง และภาพตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 134 รายการ อาทิ 1.โครงการศึกษาออกแบบระบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นสึนามิ จำนวน 6.7 ล้านบาท, เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำยม ใน อ.กงไกลาศ จ.สุโขทัย ความยาว 250 เมตร จำนวน 3 ล้านบาท, เขื่อนป้องกันตลิ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.หาดทนง ต.เมือง จ.อุทัยธานี, บริเวณวันปู่ศุข อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท

เตรียม 76 ล้านบาท จัดทำโครงการ-ผังนโยบาย บรรเทาอุทกภัย 25 ลุ่มน้ำ
นอกจากนั้น ยังได้ตั้งงบจำนวน 76 ล้านบาท เพื่อทำโครงการและจัดทำผังนโยบายบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำ จำนวน 25 ลุ่มน้ำ อาทิ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา, ลุ่มน้ำวัง, ลุ่มน้ำชี ซึ่งเป็นโครงการระยะเยาว 11 ปี (2555-2565) มีวัตถุประสงค์ คือ จัดทำแผนนโยบาย โครงการและมาตรการใช้ที่ดินบรรเทาอุทกภัย, ปรับปรุงผังเมืองบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจ, จัดให้มีเครื่องมือและกลไกสนับสนุนในการบริหารจัดการใช้ประโยชน์ที่ดิน, จัดให้มีเครื่องมือบูรณาการแผนงาน โครงการด้านการผังเมือง และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของคณะกรรมการลุ่มน้ำให้สอดรับกับภาพรวมอนาคตของการตั้งถิ่นฐานอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ยังได้เสนอของบอีก 1 หมื่นล้านบาท เพื่อทำโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติ วัตถุประสงค์ คือ ช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และสาธารณภัยต่างๆ ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

คมนาคมตั้งงบ ซ่อมถนน 4,500 ล้านบาท
สำหรับกระทรวงคมนาคม ส่วนของกรมทางหลวงชนบท มีโครงการซ่อม ฟื้นฟูทางหลวงชนบทอันเนื่องมาจากเหตุภัยพิบัติ 4,500 ล้านบาท รวม 142 รายการ อาทิ ถนนสาย อย.3011 แยก ทล.347 - บ.โคก อ.บางไทร จ.อยุธยา, ถนนสาย อย.4014 แยก ทล.3263 - บ.เกาะ อ.บางไทร จ.อยุธยา, ถนนสาย พจ.4011 แยก ทล.1289 - บ.ท้ายน้ำ อ.โพทะเล จ.พิจิตร , ถนนสาย ศก.5009 แยกเทศบาลเมืองศรีสะเกษ-อ.ยางชุมน้อย อ.เมือง จ.ศีรสะเกษ

"อุตสาหรรม" ไม่ของบน้ำท่วม
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งได้มีโรงงานเป็นจำนวนมากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งต้องจมน้ำ แต่กลับไม่พบการกำหนดรายละเอียดของบประมาณเข้ามา แต่อย่างใด

อึ้ง ! จังหวัดประสบภัย ไม่พบงบฟื้นฟู
สำหรับงบประมาณรายจังหวัด หากไม่นับ กทม. และ เมืองพัทยา พบว่า ในส่วนของจังหวัดที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย ระบุให้เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 26 จังหวัด อาทิ จ.พิจิตร, จ.พิษณุโลก, จ.นครสวรรค์, จ.อุทัยธานี, จ.อ่างทอง, จ.สุพรรณบุรี, จ.ฉะเชิงเทรา, จังหวัดปทุมธานี ไม่พบมีการใส่รายละเอียดที่ใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วม หรือ โครงการที่ใช้การบูรณาการงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

เช่น จังหวัดปทุมธานี ที่ประสบภัยปัญหาน้ำท่วมมากถึง 7 อำเภอ ได้เสนอของบประมาณ 174.6 ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมา คือ 176.9 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดพบว่า เป็นการของบประมาณบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติ จำนวน 20.7 ล้านบาท เป็นในส่วนของ การจ้างที่ปรึกษาให้เข้ามาดำเนินการในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาโครงงานอุตสาหกรรมให้เป็นโรงงานสีเขียว จำนวน 5 ล้านบาท, โครงการการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการควบคุมเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2 ล้านบาท, ศึกษาการจัดการขยะโดยชุมชน 5.7 ล้านบาท เป็นต้น

ขณะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ประสบภัยน้ำท่วม 16 อำเภอ และแหล่งโบราณสถานเสียหายเป็นจำนวนมาก เสนอของบประมาณ 204,795,100 บาท ซึ่งลดจากปีที่ผ่านมา คือ 202,757,500 บาท ไม่มีงบด้านการเตือนภัย หรือ ฟื้นฟูภัยพิบัติ แต่จะมีในส่วนของค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ในหมวดของค้าก่อสร้างทางและสะพาน จำนวน 71 ล้านบาท ที่ใช้ปรับปรุงผิวจราจร อาทิ การปรับปรุงผิวจราจรลูกรังเป็นผิวลาดยาง สายแยกทางหลวงหมายเลข 32-แยกทางหลวงหมายเลข 3056 อ.อุทัย จ.อยุธยา ตอนที่ 1 จำนวน 1 แห่ง, ปรับปรุงถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก สายสำเภาล่ม-วัดไก่เตี้ย จำนวน 1 แห่ง เป็นต้น

จังหวัดชัยนาท ที่ประสบภัยน้ำท่วม มากถึง 8 อำเภอ ที่เสนอของบประมาณ 136,431,500 บาท ซึ่งลดจากเดิมที่ได้ 144,006,800 บาท ไม่มีระบุถึงงบฟื้นฟู หรือพัฒนาพื้นที่ แต่มีงบในส่วนบริหารจัดการด้านทรัพยากร จำนวน 133,600 บาท ที่ไว้เป็นค่ารับรองและพิธีการเท่านั้น

จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ประสบภัยน้ำท่วมน้อยที่สุด 4 อ. ได้รับงบประมาณ 172,157,300 บาท ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ได้ 169,909,100 บาท ทั้งนี้เมื่อสำรวจดูงบ พบว่างบกระจุกตัวอยู่ในส่วนของการส่งเสริม การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และได้ของบ ในการปรับปรุงถนน และสะพาน รวมถึงปรับปรุงอาคารแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ ที่ ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรีมาถึง 90 ล้านบาท

นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้ตั้งงบประมาณเพื่อใช้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินไว้อีก 68,700 ล้านบาทด้วย

อ่านเอาเรื่องกันตามสบายครับแล้วค่อยๆ คิดตามไปก็แล้วกัน เพราะนี่คือการใช้เงินของแผ่นดินไม่ใช่เงินรัฐบาล

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักพรรคประชาธิปัตย์

เวลาที่ผ่านไป

รัฐธรรมนูญฉบับแรก