เขตเศรษฐกิจพิเศษ


สำหรับคนที่ติดตามข่าวคราวของการพัฒนาประเทศ คงจะได้รับรู้ข่าวสารที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กำลังเร่งดำเนินการออกแบบผังเมืองรวมบริเวณชุมชนที่จะรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 12 พื้นที่ จำนวน 10 จังหวัด สำหรับพื้นที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเริ่มดำเนินการระยะแรก 5 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภูมิภาค รวมพื้นที่ 24,450 ไร่ ได้แก่

  1. จ.ตาก (ด่านแม่สอด) ตั้งอยู่ระหว่าง ต.แม่ปะกับ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด ริมแม่น้ำเมย พื้นที่ 6,000 ไร่ การพัฒนาเน้นโลจิสติกส์และอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ เกษตร เฟอร์นิเจอร์ 
  2. จ.มุกดาหาร ตั้งอยู่ที่ ต.บางทรายใหญ่ อ.เมืองมุกดาหาร (ใกล้ด่านมุกดาหาร) พื้นที่ 2,000 ไร่ การพัฒนาจะเน้นค้าส่ง การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และอุตฯอิเล็กทรอนิกส์และคลังสินค้า 
  3. จ.สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ตั้งอยู่ ต.บ้านไร่ อ.อรัญประเทศ ใกล้ถนนสาย 33 พื้นที่ 8,750 ไร่ การพัฒนาเน้นอุตฯแปรรูปสินค้าเกษตร การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบพื้นที่ค้าส่งระหว่างประเทศ และการค้าปลีก เพราะเป็นพื้นที่เชื่อมโยง 3 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา เวียดนาม 
  4. จ.ตราด (ด่านคลองใหญ่) ตั้งอยู่ ต.แสนตุ้ง อ.เขาสมิง ด้านหน้าติด ถ.สุขุมวิท ห่างชายฝั่งทะเล 20 กม. พื้นที่ 5,000 ไร่ พัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยงเชิงนิเวศ 
  5.  จ.สงขลา (ด่านสะเดา) ตั้งอยู่ที่ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ พื้นที่เชื่อมต่อกับ ถ.เพชรเกษม และ ถ.หอการค้ากาญจนาภิเษก เชื่อมต่อกับถนนสาย 43 พื้นที่ 2,700 ไร่ เน้นพัฒนาโลจิสติกส์และบริการต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ยางพารา 

ส่วนอีก 7 จังหวัดที่จะดำเนินการระยะต่อไป กรมเตรียมการจัดวางผังเช่นกัน ได้แก่

  1. จ.กาญจนบุรี ตั้งอยู่ ต.บ้านหนองสองตอนกับบ้านหนองจอก พื้นที่ 2,000 ไร่ 
  2. จ.เชียงราย ตั้งอยู่ ต.สถาน อ.เชียงของ อยู่ติดกับถนนเชื่อมกับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย พื้นที่ 500 ไร่ 
  3. จ.เชียงราย ตั้งอยู่ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน บริเวณท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ติดแม่น้ำโขงและถนนสาย1129 พื้นที่ 752 ไร่ 4.
  4. เชียงราย อยู่พื้นที่ อ.แม่สาย มีข้อจำกัดด้านตะวันตกของเมืองแม่สายเป็นภูเขา จึงเหลือพื้นที่ให้พัฒนาบริเวณด้านตะวันออกของเมือง พื้นที่ 500 ไร่ 
  5. จ.หนองคาย ตั้งอยู่พื้นที่บริเวณ อ.เมือง กับ อ.สระใคร ทางตอนใต้ของเมืองหนองคาย พื้นที่ 3,300 ไร่ 
  6. จ.นครพนม ตั้งอยู่บริเวณบ้านสำราญเหนือ ต.อาจสามารถ กับตอนบนอ.เมืองนครพนม ใกล้ด่านชายแดนนครพนม ติดถนนสาย 212 พื้นที่ 2,200 ไร่ และ 
  7. จ.นราธิวาส ตั้งอยู่ที่ ต.นานาค อ.ตากใบ อยู่บนถนนสาย 4057 ห่าง อ.ตากใบ 15 กิโลเมตร พื้นที่ 2,500 ไร่ 

ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ซึ่งคาดว่าคงจะใช้อำนาจตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษพ.ศ. ๒๕๕๖ มาเป็นต้นแบบในการดำเนินการ จึงอยากจะคัดลอกบางส่วนนำมาลงไว้ให้พิจารณาไปก่อนจาก คำจำกัดความในข้อ 3 ของระเบียบนี้

“เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” หมายความว่า บริเวณพื้นที่ที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนดให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษซึ่งรัฐจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาระบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จที่สอดคล้องกับระบบ ASEAN Single Window และการดำเนินการอื่นที่จำเป็นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
“การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ” หมายความว่า การที่ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคมอบอำนาจในการสั่ง อนุญาต อนุมัติ ปฏิบัติราชการหรือดำเนินการอื่นใดตามกฎหมายกฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียนหรือข้อตกลงภายใต้กรอบเศรษฐกิจอื่น หรือการค้าบริเวณพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้แก่เจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่นเพื่อให้สามารถสั่ง อนุญาตอนุมัติ ปฏิบัติราชการ หรือดำเนินการนั้นรวมอยู่ ณ จุดเดียวในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง
“การค้าบริเวณพรมแดน” ให้หมายความรวมถึงการลงทุน การให้บริการ และการเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรของแรงงานต่างด้าวบริเวณพรมแดนและพื้นที่ต่อเนื่องกับพื้นที่ดังกล่าว
 “ประเทศเพื่อนบ้าน” หมายความว่า ประเทศที่มีพรมแดนติดกับราชอาณาจักรไทย
 “แผนแม่บท” หมายความว่า แผนแม่บทการจัดตั้งและดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง 
“แผนงานหรือโครงการ” หมายความว่า แผนงานหรือโครงการที่จำเป็นต่อการพัฒนาและจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จที่หน่วยงานจัดทำขึ้นเพื่อจัดตั้งและดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่งขึ้นตามแผนแม่บท
 “แผนปฏิบัติการ” หมายความว่า แผนปฏิบัติการเพื่อจัดตั้งและดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง
 “การพัฒนาพื้นที่” หมายความว่า การปรับปรุงและใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ทั้งของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการจัดให้มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
 “หน่วยงาน” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
 “คณะกรรมการนโยบาย” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
 “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

จำได้ว่าผมเคยพูดถึงเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้มามากกว่า 1 ครั้งแล้วและเคยชี้แจงถึงข้อดีข้อเสียของโครงการนี้มาแล้วว่า "ก่อให้เกิดประโยชน์กับนักธุรกิจ" เท่านั้น ซึ่งอาจจะมีข้าราชการบางส่วนได้รับผลประโยชน์ไปด้วยเป็นบางคน นั่นเป็นเรื่องธรรมดา ประชาชนบางส่วนในพื้นที่อาจจะได้รับผลประโยชน์บ้างเป็นบางส่วนด้านอาชีพก็เป็นเรื่องที่ต้องเป็นไปตามสภาพอยู่แล้ว

แต่ผลประโยชน์ทั้งหลายมิได้ตกแก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินโดยรวม

และในบางสถานการณ์มันหมายถึงอำนาจอธิปไตยของชาติกำลังถูกคุกคาม
มันเป็นเรื่องของการมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศอาณานิคม

มันเป็นการร่วมมือกันกอบโกยผลประโยชน์ของเหล่านายทุนระดับชาติโดยตรง

ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะย้อนกลับไปศึกษาข้อกฎหมายในเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที และพิจารณาดูด้วยความเที่ยงธรรมว่า ประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์อะไรจากเรื่องเหล่านี้ 

นอกจาก สินค้าฟุ่มเฟือยมากมายที่มาอยู่ใกล้มือ

กรุณาจับตาดูไว้ให้ดี

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักพรรคประชาธิปัตย์

เวลาที่ผ่านไป

คุณบุญรอด