ส 40105 ประวัติศาสตร์ ม. 6

         วันนี้อารมณ์ดีเลยเปิดหนังสือเรียนของลูกมาอ่านเล่นๆ เป็นเอกสารประกอบการเรียน วิชา ส 40105 ประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อ่านแล้วก็นึกขึ้นมาได้เผื่อใครยังไม่เคยอ่านก็ลองอ่านดูในอีกแง่มุมหนึ่งของบันทึกจากประวัติศาสตร์ ที่เขียนและรวบรวมโดยบุคคลในวันนี้ ด้วยข้อจำกัดในการรับรู้และเผยแพร่ข่าวสาร ทำให้นักเรียนได้ซึมซับเนื้อหาตามที่ถูกกำหนดเท่านั้น ส่่วนความเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องที่ต้องไปค้นหาเอง
เชิญอ่านเพลินๆ ก็แล้วกัน

         การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 : การเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตยของไทย
คำถามก่อนและหลังการปฏิวัติ
1. เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ของไทยในสมัย พ.ศ. 2475 แล้ว ท่านคิดว่าการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นหรือเป็นเรื่อง “ชิงสุกก่อนห่าม”
2. เหตุใดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสละราชย์สมบัติ ใน พ.ศ. 2477

สภาพการณ์วันปฎิวัติ พ.ศ. 2475
          เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ข้าราชการทหารและพลเรือนจำนวน 102 นายในนามของคณะราษฎร ได้ยึดอำนาจจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยมีจุดมุ่งหมาย “ ที่จะให้ประเทศสยามมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน”
(อ้างถึงจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : ๒๕๔๗ )
          การยึดอำนาจดำเนินไปในตอนเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า
มีทหารบก –เรือ และนักเรียนนายร้อยทหารบกเข้าร่วมเพียงประมาณไม่เกิน 2 พันคน ส่วนใหญ่มารวมกันที่ลานพระรูป เพราะเข้าใจว่ามาดูการซ้อมสวนสนาม พระยาพหลพลพยุหเสนาหัวหน้าคณะราษฎรได้ประกาศการปฏิวัติเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตยต่อที่ชุมนุมนั้น ขณะเดียวกันสมาชิกคณะราษฎรได้แยกย้ายไปปฎิบติหน้าที่ที่สำคัญคือ การจับผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จ
พระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต มาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นหลักประกันพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานที่หัวหิน คณะราษฎรได้มอบหมายให้นาวาตรีหลวงศุภชลาศัย ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัย นำหนังสือไปกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับพระนครและขอให้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพระองค์ได้ทรงยินยอมให้ความร่วมมืออย่างดี เพราะทรงเห็นแก่ความสงบของบ้านเมืองเป็นสำคัญและตรงกับพระราชนิยมมาแต่เดิม
การปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยนั้นเดิมปรากฏว่ารัชกาลที่ 7 มีพระราชประสงค์อยู่บ้าง
เห็นได้ที่ทรงให้พระยากัลยาณไมตรี ( ดร.ฟรานซิส บี.แซร์ )และพระยาศรีวิสารวาจาเสนอร่างรัฐธรรมนูญและโครงสร้างของรัฐบาล แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่มีเสียงสนับสนุนโดยเฉพาะในอภิรัฐมนตรีสภา ซึ่งประกอบด้วยพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ด้วยเหตุผลว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะปกครองตนเอง รัชกาลที่ 7 ต้องยอมรับมติของอภิรัฐมนตรีสภาเนื่องจากล้วนเป็นพระราชวงศ์ที่มีอาวุโสมากกว่าพระองค์
ทั้งสิ้น

เหตุใดจึงมีการปฏิวัติ พ.ศ. 2475
         สาเหตุการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองได้แก่
         1. ปัญหาเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าราชการและประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจนโยบายดุลยภาพและการ
เพิ่มภาษีอากร เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจสมัยรัชกาลที่ 7 ในสมัยนั้นงบประมาณแผ่นดินมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ติดต่อกันมาถึง 5 ปี ต่อเนื่องจากปัญหาจากการคลังสมัยรัชกาลที่ 6 ( เช่น การใช้งบประมาณเรื่องเสือป่า การสร้างดุสิตธานีเพื่อทดลองการปกครองตนเองระดับท้องถิ่น และการเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 และเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ) รัฐบาลขณะนั้นไม่กู้เงินจากต่างประเทศ แต่แก้ปัญหาโดยลดค่าใช้จ่ายของแผ่นดิน ขณะเดียวกันสภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ค่าของเงินลดลงทั่วโลก อังกฤษลดค่าเงินปอนด์แต่ไทยไม่ลดค่าเงินบาท ส่งผลให้ข้าวไทยราคาแพง ขายไม่ออก ชาวนาเดือดร้อน รัฐบาลใช้วิธีลดรายจ่ายโดยการดุลยภาพถึงสองครั้ง มีการปลดข้าราชการออก โดยเฉพาะข้าราชการทหารและยกเลิกหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมศิลปากร เป็นต้น
          2. กระแสความนิยมประชาธิปไตยและการปฏิวัติเปลี่ยนการปกครอง ในประเทศต่าง ๆ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างต่อเนื่องขณะที่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมในประเทศอย่างมาก
ที่สำคัญ คือ การปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์แมนจู เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยโดยพรรคก๊กมินตั๋ง การปฏิวัติเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ในรัสเซียโดยเลนิน และการสิ้นสุดการปกครองโดยราชวงศ์ออสเตรีย-ฮังการี เหตุการณ์เหล่านั้นมีผลต่อปัญญาชนและชนชั้นกลางของไทยที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้นำการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ และมีศูนย์กลางที่ฝรั่งเศส อาทิ นายปรีดี พนมยงค์ นายประยูร ภมรมนตรี ร้อยโทแปลก ขีตตสังคะ เป็นต้น
๑. บทบาทของหนังสือพิมพ์ในการเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงการ
ปกครอง เช่น สยามรีวิวและไทยใหม่ ซึ่งมีส่วนในการส่งเสริมให้ประชาชนสนใจและเห็นประโยชน์ของการปกครองโดยมีรัฐสภา
หลักหกประการของคณะราษฎร
คณะราษฎรมีจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญเป้นกฏหมายสูงสุด และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรได้ออกแถลงการณ์แก่ประชาชน ชี้แจงจุดประสงค์และนโยบายในการบริหารประเทศ 6 ประกาศ คือ
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชทางการเมือง การศาล เศรษฐกิจ
2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันน้อยลงให้มาก
3. จะต้องทำนุบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้
ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดหยาก
4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าว
ข้างต้น
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

การปกครองแบบประชาธิปไตยหลังการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475
          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม และมีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เริ่มมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและเลือกประธาสภาฯคนแรกคือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา( ก้อน หุตะสิงห์ – ไม่ได้เป็นคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ) มีคณะกรรมการราษฎรอีก 14 นาย ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และมีอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พร้อมทั้งทรงประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทยจำนวน 20 คน มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี

คำถาม ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 จนปัจจุบัน แสดงให้เห็นพัฒนาการของประชาชนที่จะปกครองตนเองอย่างไรบ้าง

ความขัดแย้งทางการเมืองหลังการปฏิวัติ 2475
การยุบสภาและการรัฐประหารครั้งแรก
         ความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มจาก การที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีความเห็นต่างกัน เรื่องหลักหกประการของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ฝ่ายหนึ่งเป็นคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่เริ่มต้น อีกฝ่ายเป็นผู้เข้าร่วมก่อการปฎิวัติภายหลัง คือ พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเณย์ เมื่อสภาผู้แทรราษฎรมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงถึงขั้นถือปืนเข้าสภา ทำให้ทหารตรวจค้นอย่างเข้มงวดทำให้สมาชิกสภาฯ ไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้นและลงมติไม่รับหลักหกประการ นายกรัฐมนตรีจึงประกาศปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งไม่มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมและออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ หลังจากนั้นจึงส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมออกไปพำนักในฝรั่งเศสเป็นการชั่วคราว เมื่อนายกรัฐมนตรีนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงพิจารณา รัชกาลที่ 7 ได้ทรงแสดงพระราชดำริไม่เห็นชอบกับหลักหกประการ
          ขณะนั้นคณะผู้ก่อการปฏิวัติ 2475 ฝ่ายทหารแต่เดิม นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาไม่พอใจ จึงมีการยึดอำนาจจากรัฐบาลและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 นับเป็นการรัฐประหารครั้งแรกของไทย หลังจากนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ได้เดินทางกลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยมีความพยายามจะเสนอหลักหกประการอีกครั้ง

กบถบวรเดช
          ต่อมาเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดชทรงรวบรวมนายทหารที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของคณะราษฎร ได้นำทหารจากนครราชสีมาและอีกบางจังหวัด ในภาคอีสานและภาคกลาง เดินทางมากรุงเทพ ฯ เพื่อโค่นล้มรัฐบาล ได้เคลื่อนกำลังมารบกับฝ่ายรัฐบาลที่ดอนเมือง
ในนามคณะกู้บ้านเมือง เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู้หัวเป็นประมุข ปกครองตามระบอบประธิปไตยอย่างแท้จริง คณะรัฐบาลได้แต่งตั้งพันโทหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้อำนวยการปราบกบฎ การรบดำเนินไปอย่างรุนแรง ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลได้ชัยชนะในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2476 พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช ทรงหลบหนีไปลี้ภัยที่อินโดจีน

การสละราชสมบัติ
           คำถามชวนคิด หากท่านมีโอกาสแก้ปัญหาการเมืองหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เพื่อป้องกันมิให้รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ ท่านจะเสนอทางออกของปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง
ความไม่พอพระทัยของรัชกาลที่ 7 มีมาตั้งแต่หลังการปฎิวัติ เพราะมีปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผล
กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมาก โดยเฉพาะความขัดแย้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม จากหลักหกประการ ที่เรียกว่า “ สมุดปกเหลือง ”ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีแนวโน้มเป็นสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ สาระสำคัญกล่าวถึงการให้ประชาชนใช้แรงงานให้เต็มที่เพื่อพัฒนาประเทศ กำหนดให้บุคคลอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไปจนถึง 55 ปี เป็นข้าราชการ ได้รับเงินเดือนตามที่รัฐบาลกำหนด มุ่งปรับปรุงการกสิกรรมมากกว่าด้านอื่น โดยดึงปัจจัยการผลิตมาใช้ให้เต็มที่ โดยเฉพาะที่ดินให้ดึงมาเป็นของรัฐ รัฐบาลควรเก็บภาษีทางอ้อมมากขึ้น กู้เงินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ใช้ระบบสหกรณ์เข้ามาดำเนินงาน บริหารและควบคุมโดยคนของรัฐ มีการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมโดยรัฐเป็นเจ้าของและตั้งธนาคารชาติ
            แนวคิดดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคัดค้าน โดยทรงเห็นว่าถอดแบบมาจากประเทศรุสเซีย พระราชวิจารณ์ของพระองค์เรียกว่า “ สมุดปกขาว”
ต่อมาการที่มีการยุบสภาและรัฐประหารโดยคณะนายทหาร ในพ.ศ. 2476 ตลอดจนกบฎ
บวรเดช ซึ่งจงรักภักดีต่อรัชกาลที่ 7 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัชกาลที่ 7 และคณะรัฐบาลทหารมีปัญหามากขึ้น ต่อมามีการใช้อำนาจรัฐบาลทหารตั้งศาลพิเศษพิพากษาคดีและลงโทษผู้ก่อการกบฏ
บวรเดชอย่างรุนแรงทั้งยังมีบีบคั้นฝ่ายที่มีความเห็นคัดค้านอย่างไม่เป็นธรรม ดังเช่น การตราพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ความขัดแย้งถึงขั้นวิกฤตเมื่อรัชกาลที่ 7 ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญัติดังกล่าวที่ไม่ทรงเห็นด้วย แต่สภาผู้แทนราษฎรก็ยังประกาศใช้ในเวลาต่อมา
เมื่อไม่สามารถประนีประนอมกันได้ รัชกาลที่ 7 จึงทรงตัดสินใจสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ด้วยเหตุผลดังความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติ ซึ่งรัชกาล
ที่ 7 พระราชทานมายังรัฐบาลว่า
“.. ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดย
สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร...””
ต่อมาในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร์ พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 สมเด็จพระราชอนุชา คือ พระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงขึ้นครองราชย์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

คำถามส่งท้าย
ท่านรู้จักการปฏิวัติที่สำคัญในประวัติศาสตร์เรื่องใดบ้าง แต่ละครั้งมีความสำคัญอย่างไร
-----------------------------
ที่มา ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประวัติการเมืองไทย ดอกหญ้า :กรุงเทพ ฯ ; 2537
รอง ศยามานนท์ ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ. ไทยวัฒนาพานิช :กรุงเทพฯ ; 2520

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักพรรคประชาธิปัตย์

เวลาที่ผ่านไป

รัฐธรรมนูญฉบับแรก