กฎหมายมีเพื่อใคร?

ช่วงเวลาที่ผ่านมาประมาณสามปีกว่าๆ ได้พยายามเก็บรวบรวม กฎหมายไทย โดยจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่หลายแนวทาง ทั้งที่แบ่งตามลำดับความสำคัญ แบ่งตามประเภทของกฎหมาย แบ่งตามความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวง แบ่งตาม ฯลฯ แต่ดูเหมือนกฎหมายไทยมันออกจะมากมายจนตามเก็บไม่หวาดไม่ไหว มันมากมายจนท่วมท้น บางฉบับก็ออกมาทับซ้อนกัน บางฉบับก็ออกมาล้มล้างฉบับอื่นที่ยังไม่ยกเลิก บางฉบับออกมาโดยไม่มีเหตุผล บางฉบับก็ออกมาเพื่อบังคับใช้ครั้งเดียว จึงทำให้เกิดความสับสนว่าจะออกมาทำไมฟุ่มเฟือยนัก ทั้งๆ ที่ หลักการที่เป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายนั้นก็มีอยู่เพียง 2 ประการเท่านั้นเอง

คือ
1. ออกมาแล้วมีผลบังคับใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
2. ออกมาแล้วมีจุดหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อครอบครัว และเพื่อเพื่อนพ้องบริวาร

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาการเจริญเติบโตของประชาธิปไตยเป็นไปอย่างยากเย็นแสนเข็ญ สาเหตุมาจากจุดมุ่งหมายในการออกกฎหมายส่วนมากจะเป็นการออกมาเพื่อผลประโยชน์ตาม ข้อ 2. อันสืบเนื่องมาจากพื้นฐานของประชาธิปไตยเรามีที่มาจากขุนนางเดิมในระบอบเดิมที่มักจะทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่เหนือกว่าประชาชน จะเป็นรองก็เฉพาะ พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเหล่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เริ่มเสื่อมถอยในอำนาจบารมีทางการเมือง เพราะอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้เกิดกลุ่มนายทุน นักธุรกิจ จำนวนมากเริ่มหลั่งไหลเข้ามาสู่วังวนทางการเมือง เหตุผลก็เพราะ การเข้ามามีส่วนร่วมในรัฐสภาหรือร่วมเป็นผู้บริหารในคณะรัฐบาล ย่อมมีโอกาสในการกำหนดแนวทางในการออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนและครอบครัวได้เป็นอย่างดี เส้นทางจึงเริ่มต้นจากการใช้ทรัพย์สินที่มีปูทางเดินด้วยการดึงตัวนักการเมืองอาชีพเข้ามาอยู่ในสังกัด เพราะบรรดานักการเมืองเหล่านี้ส่วนมากจะเป็นผู้มีอำนาจบารมีหรือทรงอิทธิพลภายในแต่ละท้องถิ่นอยู่ก่อนแล้ว การซื้อด้วยเงินนั่นเป็นวิธีการขั้นพื้นฐานของคนไทยในยุคนี้ จากนั้นก็จะเดินเกมด้วยการคบหาสมาคมกับผู้นำทางทหารและข้าราชการชั้นสูงที่พอจะมีอำนาจบารมี แล้วก็บ่มเพาะขุมกำลังไว้ในรัฐสภาอย่างสมบูรณ์ และสามารถชี้ทางให้กับกฎหมายทุกฉบับอย่างไม่ผิดพลาด

เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก

ส่วนการดูแลประชาชนก็สามารถทำไปควบคู่กันได้ด้วยเศษของเงินรายได้แผ่นดิน ด้วยโครงการเอื้อเอ็นดูประชาชนเหมือนพ่อแม่ดูแลลูก พยายามลดช่องว่างของสังคมให้ลดลงหรือขจัดให้หมดไป โดยการกำหนดวิถีทางให้ประชาชนระดับล่างถูกกดขี่บีบคั้นจนตรอมใจตายไปเอง หรือช่วยเหลือชี้นำประชาชนให้ดิ้นรนเอาตัวรอดในสถานการณ์คับขันนี้ ด้วยการทำสิ่งที่ผิดกฎหมายบ้างให้เกิดความเคยชินจนนึกว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมเรา เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ลำเค็ญ ส่วนผู้ที่ซื่อตรงบริสุทธิ์ยุติธรรมก็จะค่อยๆ ละลายหายไปจากความทรงจำของผู้คน ในที่สุด

ทุกชีวิตก็จะเป็นสุขและฟาดฟันกันเองอยู่ท่ามกลางความโสมมของสังคม
นี่คือความเป็นจริงของชีวิตในยุคสมัยที่วัตถุมีค่าเหนือกว่าจิตใจ ประชาชนเริ่มหันเข้าหาวัตถุเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เริ่มมีใจรักการแข่งขันทั้งด้านการค้า การดำรงชีวิตในสังคม สังคมปลูกฝังความเห็นแก่ตัวจนหยั่งรากลึกในจิตใจประชาชน ไม่มีความเสียสละ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ ไม่มีความเห็นใจ ไม่มีการยอมรับความสูญเสียใดๆ ทั้งสิ้น จะต้องมีแต่คำว่า "ได้" เท่านั้น

กฎหมายอาจจะกลับกลายเป็นกฎเกณฑ์ที่มีผลร้ายในสังคม หากถูกร่างออกมาโดยผู้ที่มีจิตใจไม่สุจริตและถูกพิจารณากลั่นกรองโดยกลุ่มบุคคลที่มองเห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน รวมถึงการออกกฎหมายมาเพื่อหวังผลในทางการเมืองโดยไม่ยึดหลักความจริงของประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิมของประชาชนโดยทั่วไป และกล่าวอ้างถึงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองอื่น กล่าวอ้างถึงแต่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนไทยด้วยกัน กล่าวอ้างถึงแต่เหตุผลที่เป็นความคิดเห็นส่วนตนเพียงคนเดียวโดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากประชาชนทั่วไป

อะไรต่อมิอะไรในแผ่นดินจึงสับสนวุ่นวายกันถึงเพียงนี้

ถ้าละทิ้ง "ตัณหา" เพียงอย่างเดียวทุกอย่างก็สงบ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักพรรคประชาธิปัตย์

เวลาที่ผ่านไป

คุณบุญรอด