ก็แค่อยากคิดดูบ้าง

          ว่างๆ ก็หยิบหนังสือกฎหมายมาอ่านเล่นตามความเคยชิน และวันนี้ก็นึกอยากจะเห็นแนวความึิดของคนรุ่นเก่าๆ เพื่อจะลองเปรียบเทียบความแตกต่างกับในวันนี้ว่ามีข้อแตกต่างกันมากมายเพียงใด แล้วก็บังเอิญไปสะดุดมือที่ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งจำได้ว่าเคยพูดถึงมาครั้งหนึ่ง แต่นั่นเป็นบทความของ รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ใจความเป็นอย่างไรก็อ่านดูได้จากลิงค์ด้านข้างครับ ในกลุ่มที่ระบุว่า "ไม่มีความหมาย" น่ะครับ เหตุผลที่ต้องบอกว่าไม่มีความหมายก็เพราะไม่อยากตอบคำถามใครทั้งนั้น
          ในส่วนที่สำคัญที่สุดและอาจมีผลกระทบตามมาก็จะไม่พูดถึงล่ะ แต่จะขอไปมองดูเนื้อหาอื่นๆ ต่อไปจะดีกว่า
          " มาตรา ๙ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้ " มาตรานี้ระบุตัวตนที่่แท้จริงของผู้บริหารประเทศออกมาอย่างชัดเจนว่าเป็นระบบเผด็จการของรัฐสภายุคแรก และในมาตรา 10 มีการระบุ สมาชิกสภาผู้แทนไว้เป็น 2 สมัย สมัยแรก " ....นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ ๒ จะเข้ารับตำแหน่งให้คณะราษฎรซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทนจัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน ๗๐ นายเป็นสมาชิกในสภา.." ตรงนี้ก็ยังคงยืนยันถึงผู้กุมอำนาจในการปกครองที่แท้จริงอยู่เช่นกัน แล้วก็มาถึง สมัยที่ 2 "...ภายในเวลา ๖ เดือนหรือจนกว่าการจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย สมาชิกในสภาจะต้องมีบุคคล ๒ ประเภททำกิจการร่วมกัน คือ
          ประเภทที่ ๑ ผู้แทนซึ่งราษฎรจะได้เลือกขึ้นจังหวัดละ ๑ นาย ถ้าจังหวัดใดมีสมาชิกเกินกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ให้จังหวัดนั้นเลือกผู้แทนเพิ่มขึ้นอีก ๑ นายทุกๆ ๑๐๐,๐๐๐ นั้น เศษของ ๑๐๐,๐๐๐ ถ้าเกินกว่าครึ่งให้นับเพิ่มขึ้นอีก ๑
          ประเภทที่ ๒ ผู้เป็นสมาชิกอยู่แล้วในสมัยที่ ๑ มีจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทที่ ๑ ถ้าจำนวนเกินให้เลือกกันเองว่าผู้ใดจะคงเป็นสมาชิกต่อไป ถ้าจำนวนขาดให้ผู้ที่มีตัวอยู่เลือกบุคคลใดๆ เข้าแทนจนครบ
          ต่อมาจนถึงเรื่องที่เกี่ยวกับ สมัยที่ 3  " ...เมื่อจำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตต์ได้สอบไล่วิชชาปถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่ง และอย่างช้าต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้ สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้ที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นเองทั้งสิ้น สมาชิกประเภทที่ ๒ เป็นอันไม่มีอีกต่อไป ...."
          เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการพัฒนาประชาธิปไตยยุคนั้นอาศัยมาตรฐานการศึกษาของประชาชนเป็นเกณฑ์ในการถ่วงรั้งอำนาจไว้ในกำมือของตนและพวกพ้อง ทำให้เห็นเหตุผลที่ว่าทำไมการศึกษาของประชาชนทั่วไป จึงไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างที่ควรจะเป็นตราบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
          แล้วก็ขอข้ามมาถึงเรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ยังคงมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเช่นเดิม คือ " ..มาตรา ๑๗ การฟ้องร้องสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรเป็นคดีอาชญายังโรงศาลจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาก่อนศาลจึ่งจะรับฟ้องได้.." นี่เป็นสิทธิเกินพื้นฐานของความเป็นประชาชน ทำให้ผู้มีอิทธิพลมากหน้ามุ่งเข็มเข้ามาที่ควาามเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสิทธิดังกล่าวเนื่องจากรู้ตัวดีว่าบรรดาความประพฤติของตน รวมถึงของเหล่าบริวารนั้นหมิ่นเหม่ต่อการถูกฟ้องร้องกล่าวโทษ กฎหมายในข้อนี้จึงเป็นเกราะกำบังตนอย่างดีมาโดยตลอด


             ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ สภาผู้แทนราษฎรอันประกอบด้วย สมาชิกซึ่งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้ตั้งขึ้นจำนวน ๗๐ นาย ได้ประชุมกันเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยที่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน มาตรา ๓๓ บัญญัติไว้ว่า "ให้สภาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้หนึ่งเป็นประธานกรรมการ และให้ผู้เป็นประธานนั้นเลือกสมาชิกในสภาอีก ๑๔ นาย เพื่อเป็นกรรมการ การเลือกนี้เมื่อได้รับความเห็นชอบของสภาแล้ว ให้ถือว่าผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการของสภา" สมาชิกได้เสนอให้ มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือก เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ ประธานคณะกรรมการราษฎร ได้เสนอชื่อคณะกรรมการราษฎรและสภาได้อนุมัติ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งประกอบด้วย

     ๑. นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา)
     ๒. มหาอำมาตย์ตรี พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล)
     ๓. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
     ๔. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)
     ๕. นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเณย์ (สละ เอมะศิริ)
     ๖. อำมาตย์เอก พระยาประมวญวิชาพูล (วงศ์ บุญหลง)
     ๗. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์ (วัน ชูถิ่น)
     ๘. นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม)
     ๙. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)
     ๑๐. อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
     ๑๑. รองอำมาตย์เอก หลวงเดชสหกรณ์ (หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์)
     ๑๒. รองอำมาตย์เอก ตั้ว ลพานุกรม
     ๑๓. รองอำมาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี
     ๑๔. นายแนบ พหลโยธิน
      ทั้ง 15 คนก็เปรียบเสมือนกับเป็น คณะรัฐมนตรี ชุดแรกของไทยนั่นเอง แต่คนไหนจะเป็นหุ่นคนไหนจะเป็นตัวจริงก็ไม่น่าเป็นปัญหาที่จะต้องมาขบคิดให้ปวดสมอง เพราะความมั่นคงของความเป็นมิตรย่อมหมดไปบนถนนสายการเมือง นั่นคือสิ่งที่ต้องเป็นไป

          ก็อย่างที่ขึ้นหัวข้อไว้นั่นแหละ ก็แค่อยากคิดดูบ้างป้องกันสมองฝ่อ ...
          ไม่มีความหมายอะไร?

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักพรรคประชาธิปัตย์

เวลาที่ผ่านไป

คุณบุญรอด