สังคมออนไลน์

ก.ไอซีที แนะผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช็คข้อมูลก่อนเชื่อและแชร์ 

นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึง สถานการณ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ ว่า ปัจจุบันประชาชนได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะ Facebook Instagram และ Twitter เนื่องจากสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้โดยง่ายผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์พีซี โทรศัพท์เคลื่อนที่ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต จึงทำให้เข้าถึงเนื้อหาบนโลกออนไลน์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงสามารถโพสต์ แชร์ กดไลค์ และแสดงความคิดเห็นต่อข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเสรี โดยการกระทำต่างๆ ที่กล่าวไปนั้น บางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ผู้ใช้ไม่ได้คัดกรองข้อมูลข่าวสารมากมายต่างๆ ที่เข้ามาอย่างเพียงพอ

ดังกรณีตัวอย่างเช่น การแชร์ภาพบัตรประจำตัวประชาชนหรือภาพของบุคคลต่างๆ โดยอาจมีการบรรยายว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิด ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วยังมิได้มีการตรวจสอบถึงบุคคลที่ปรากฏอยู่บนบัตรประจำตัวประชาชนใบนั้น ว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ การกระทำดังกล่าว อาจทำให้บุคคลในภาพตกเป็นจำเลยของสังคม ซึ่งผู้ที่ทำการแชร์ภาพหรือให้ข้อมูลเหล่านี้อาจมีความผิดฐานละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล การหมิ่นประมาท และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยบางครั้งเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแล้วว่าบุคคลดังกล่าวมิได้กระทำความผิดตามที่อ้างจริง แต่ข้อเท็จจริงเหล่านั้นอาจจะไม่ย้อนกลับไปยังกลุ่มคนบางกลุ่มที่ได้แชร์ข้อมูลไปก่อนหน้า ทำให้ผู้เสียหายยังคงตกเป็นจำเลยของสังคมจนถึงปัจจุบันทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทำความผิดใดเลย

อีกหนึ่งกรณีตัวอย่าง ได้แก่ การโพสต์ให้ความรู้ที่ไม่ถูกต้องแก่ประชาชนในเรื่องแถบสีของหลอดยาสีฟัน โดยอ้างว่าแถบสีแต่ละสีหมายถึงสรรพคุณหรือส่วนประกอบต่างๆ ของยาสีฟัน ซึ่งจากข้อเท็จจริงแล้วไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวอ้าง กรณีนี้ ผู้ที่นำข้อมูลมาแชร์ต่อ ต้องคำนึงถึงว่ายังมีเด็กและเยาวชนอีกจำนวนมากที่บริโภคข้อมูลต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่เข้ามาชมข้อมูลผ่านสื่อดังกล่าว อาจเกิดความเข้าใจผิดและนำไปถือเป็นแนวคิดในการบริโภคสินค้าที่ไม่ถูกต้องได้ สำหรับกรณีตัวอย่างสุดท้าย ได้แก่ การแชร์ข้อมูลผู้ป่วยหรือมีปัญหาด้านสุขภาพแล้วอ้างว่า หากทำการแชร์ข้อมูลดังกล่าวแล้ว จะมีการบริจาคเงินโดยผู้ให้บริการเว็บไซต์ดังกล่าวให้แก่บุคคลที่อยู่ในภาพตามจำนวนการแชร์ข้อมูลทั้งหมด ซึ่งข้อมูลที่ประชาชนได้รับทราบดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง เป็นเพียงการนำภาพบุคคลนั้นๆ มาใช้แสวงหาผลประโยชน์อื่นจากการสร้างข้อมูลแชร์ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านระบบจากการแชร์ข้อมูลจำนวนมหาศาล

ในส่วนของการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการภารกิจของหน่วยงานราชการ อาทิ การจำนำข้าว ประชาชนควรติดตามข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น รวมถึงข้อมูลในเรื่องอื่นๆ ด้วย ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งหลงเชื่อข้อมูลที่มาจากการแชร์ผ่านสื่อออนไลน์ในทันที ขอให้ทำการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงให้รอบด้านก่อน ตลอดจนไตร่ตรองก่อนกระทำการแชร์ข้อมูลต่างๆ เพื่อลดปัญหาการสื่อสารหรือส่งต่อข้อมูลที่ผิดพลาด

“ทั้งนี้ กระทรวงไอซีที ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ให้ร่วมใจกันสร้างสรรค์สังคมออนไลน์ให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ ไม่เป็นพื้นที่ในการสร้างและส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือข้อมูลที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีจิตสำนึกที่ดีและมีความรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสังคม ตลอดจนร่วมกันสอดส่องดูแลสังคมให้ปลอดภัยจากสิ่งไม่พึงประสงค์ โดยหากพบเห็นเว็บไซต์หรือข้อความที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมสามารถแจ้งมาได้ที่ศูนย์ CSOC โทร.1212 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นายไชยยันต์ฯ กล่าว

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ข้อมูลจาก http://www.mict.go.th/ewt_news.php?nid=7326&filename=index
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2556

มีคำถามเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับสังคมออนไลน์แล้วว่า
สังคมนี้จะสามารถสร้างประโยชน์ หรือสร้างหายนะให้กับสังคมมนุษย์
คำตอบก็คือ มันสร้างได้ทั้งสองอย่างในระดับใกล้เคียงกัน
และมันก็เป็นเรื่องปกติสามัญเหมือนกับการใช้งานเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ

เพราะประโยชน์หรือโทษ 
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวของมันเอง
แต่ขึ้นอยู่กับมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ใช้งาน

และก็เป็นเรื่องปกติสามัญที่ผู้กระทำความผิดย่อมต้องการปกปิดความผิดนั้นไว้ไม่ให้ปรากฎออกมา แต่สังคมออนไลน์มีขอบเขตกว้างไกลไร้พรมแดน เป็นทั้งหู เป็นทั้งตา ที่คอยสอดส่องไปทั่วทุกหัวระแหง และเป็นหูตาที่ไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน เพียงแต่ต้องการเห็นสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรมเกิดขึ้นในในสังคม

ดังนั้น สังคมออนไลน์จึงเป็นเสี้ยนหนามสำคัญที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางการกระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ ของคนหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา นักธุรกิจ นายทุน ข้าราชการ นักการเมือง หรือ แม้แต่คณะรัฐบาล

ดาบย่อมมีสองคมจึงจะนับว่าเป็นดาบที่มีอานุภาพสูงสุด
ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานว่าจะสามารถควบคุมและใช้งานมันได้ดีเพียงใด?
และเพื่อประโยชน์อะไร?

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักพรรคประชาธิปัตย์

เวลาที่ผ่านไป

คุณบุญรอด