ความว่างเปล่า


ดูเหมือนมันจะกลายเป็นวงจรอีกรูปแบบหนึ่งของบทความเสียแล้วที่จะต้องวนเวียนซ้ำซากอยู่กับเรื่องเดิมๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ตามเทศกาลการบริหารการปกครองของบ้านเมืองเรา โดยในช่วงเดือนกันยายนก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกษียณอายุราชการกับการบรรจุกำลังพลเข้ามาทดแทน และพอถึงฟดูกาลรับพระราชทานปริญญาบัตรก็จะมีปัญหาที่จะต้องพูดถึงในเรื่องที่เกี่ยวกับ "คนตกงาน" แทนที่จะไปพูดถึงความสำเร็จของผู้คนที่สามารถกัดฟันส่งเสียผลักดันลูกหลานจนจบปริญญา แม้ว่าบางคนจะต้องเสียสละตัวเองด้วยการยอมอดมื้อกินสองมื้อสามมื้อเพื่อให้ลูกเป็นหน้าตาของวงศ์ตระกูล จะได้ไม่อายคนข้างบ้านที่เป็นลูกคนรวย หรือคนชั้นกลาง นั่นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของวิกฤติการณ์ทางการศึกษาที่สังคมให้ความสำคัญกับกระดาษแผ่นหนึ่งมากกว่าผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมโดยรวม

คงต้องยอมรับกันถึงความรู้ความสามารถของผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีช่วง พ.ศ.นี้ มีมาตรฐานที่ต่ำลงและต่ำลงไปทุกปี ทั้งนี้มีผลมาจากปัจจัยหลายๆ ประการประกอบกัน ซึ่งปัจจัยที่มีส่วนสำคัญที่สุดก็คือ "การกำหนดมาตราฐานหลักสูตรการศึกษา" ของแต่ละระดับ ดังที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว บทลงโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของบ้านเรานั้น "ไม่มีผลใช้บังคับจริง" เป็นการออกบทบัญญัติไว้แค่เพียงให้เป็นมาตราฐานสากลเท่านั้นเอง ลูกใครไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องเรียน จะเลี้ยงควายตั้งแต่เกิดจนถึง 80 ปีก็ไม่มีใครมาสนใจใยดีอย่างจริงจังซักเท่าไหร่ แม้ว่ายุคนี้จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากระชับบีบประชาชนให้อยู่ในกรอบมากขึ้นก็ตาม

ประชากรไทยจากสถิติเมื่อ 1 เมษายน 2558 มีประชากรรวม 65.10 ล้านคน  ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอายุเกินกว่า 15 ปีอยู่ 55.16 ล้านคน ซึ่งแยกผู้สูงอายุออกไปอีก 10.35 ล้านคน จำนวนที่เหลือก็คือจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน  แต่จากสถิติที่ปรากฎในเอกสารนั้น มีประชากรที่มีงานทำเพียง 37.53 ล้านคนเท่านั้น และคนว่างงาน 3.24 แสนคน จากเอกสารที่มีให้เห็นนั้นขัดแย้งกันอย่างมากในข้อที่เกี่ยวกับสถติของคนว่างงาน ว่าทำไมมันจะผิดพลาดไปได้มากมายขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วยอดประชากรที่ว่างงานนั้นเกือบถึงหลัก 10 ล้านคนทีเดียว

เชื่อว่าข้อนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติคงจะต้องจ้างที่ปรึกษาเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ของชั้นประถมศึกษามาช่วยบวกลบคูรหารดูใหม่หลายๆ รอบซะแล้วล่ะครับ ก่อนที่จะเอาออกมาปิดประกาศโพนทะนาให้ประชานได้รับทราบข้อมูลที่นั่งเทียนเขียนเอาเองตามอารมณ์แบบนี้

คิดเอาเองว่าสถติประชากรว่างงาน 3.24 แสนคนน่ะ ท่านคงจะเอามาจากยอดนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในแต่ละปีมากกว่า เพราะเคยเห็นยอดตัวเลขเท่านี้ในสถิติของนักศึกษาที่หางานทำไม่ได้ในแต่ละปีครับ

แต่ที่เข้าทำงานได้นั้น 
ครึ่งหนึ่งเป็นระบบงานของทางราชการ 
"แต่อีกครึ่งหนึ่งเป็นงานของบริษัทเอกชน ของครอบครัว หรือตั้งบริษัทขึ้นมาเอง"

หรือไม่ก็ จนท.สำรวจและจัดทำอาจจะลืมตามไปนับยอดประชากรบางส่วนที่ไปแอบกินข้าวฟรีอยู่ในคุกของกรมราชทัณฑ์ทั้วประเทศอีกจำนวน 287,335 คนด้วย(1 ตุลาคม 2556) เพราะท่านเหล่านั้นก็ถือว่าเป็นคนว่างงานครับ ไม่ใช่ไปได้งานสานกระจาด เลี้ยงหมู ทำเครื่องเรือน ในเรือนจำก็นับรวมไปว่า "มีงานทำ"

และก็ยังมีประชากรไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในกลุ่ม "คนว่างงาน" นั่นก็คือกลุ่มคนไร้บ้านหรือที่เราดรียกกันว่า "คนจรจัด" นั่นเอง กลุ่มนี้ไม่สามารถทำการสำรวจสถิติได้อย่างถูกต้องแน่นอน นอกจากวัดเอาจากที่ถูกจับกุมได้ในความผิดต่างๆ เฉพาะใน กทม.ก็มากกว่า 5 พันคนเข้าไปแล้ว และต่างจังหวัดก็มีอยู่ครบถ้วนทุกจังหวัด บางท้องที่ก็ผลักดันคนเหล่านี้ไปให้พ้นจากพื้นที่รับผิดชอบของตนด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อมิให้เป็นภาระผูกพัน (แต่ถ้ามีงบประมาณอุดหนุนจากภาคเอกชนละก็ เสนอหน้ากันให้เกร่อไปหมด)

อาจจะเข้าใกล้บาปนิดหน่อยเท่านั้น ถ้าจะเสนอให้สำรวจไปให้ถึงพระภิกษุ สามเณร แม่ชี ในพุทธศาสนา และนักบวชในศาสนาอื่นๆ อีกด้วยครับ  เอาง่ายๆ ประเทศไทยมีพระภิกษุและสามเณรในพระพุทธศาสนาจำนวน 58,418 รูป (สถิติเมื่อ 31 ธันวาคม 2557) นี่ไม่ได้รวมแม่ชี และผู้ที่อาศัยวัดเป็นที่พักพิงด้วยนะครับ

แต่ถ้าใครจะถือว่าท่านเหล่านี้ไม่อยู่ในข่ายคนว่างงาน 
แต่อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่มีรายได้สูง(จนประเมินค่าไม่ได้) 

ผมก็ไม่กล้าเถียงอีกน่ะแหละ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักพรรคประชาธิปัตย์

เวลาที่ผ่านไป

คุณบุญรอด